วิธีลดโลกร้อน

นวัตกรรมรักษ์โลกไอเดียใกล้ตัว

นวัตกรรมรักษ์โลกไอเดียใกล้ตัว (คมชัดลึก)

 

โดย สาลินีย์ ทับพิลา

แก๊สชีวภาพจากโคลนน้ำเน่า ด้ามตะเกียบใช้ซ้ำและส้วมกระดาษลูกฟูก ตัวอย่างผลงานจากไอเดียของเยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลสุดยอดนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 (อีโคดีไซน์ 2009) เวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความแปลกใหม่และสวยงาม จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้คนไทยใส่ใจในภาวะโลกร้อน และร่วมกันลดปัญหาดังกล่าว

“ระบบเก็บแก๊สชีวภาพ”ผลงานจากทีมชุมพล 1 โรงเรียนชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย รับรางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โดยทีมงานนำประสบการณ์จากที่เล่นซุกซนมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์จริง

 

“เราเคยเล่นแบบเด็กซน ๆ เอากะละมังไปคว่ำลงที่คลองน้ำเน่าหลังโรงเรียน แล้วก็เอาไม้กระทุ้งกะละมัง แป๊บเดียวเอง กะละมังก็จะลอยขึ้นมา ทีนี้เราก็เอาไฟแช็กไปจุดใต้กะละมัง ไฟก็จะไหม้ สนุกกันไป แต่อยากรู้ ไปถามอาจารย์ ก็เลยรู้ว่าเป็นเพราะแก๊สมีเทนจากน้ำเน่า” ศจิษฐ์ โปธาตุ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนชุมพลโพนพิสัย เล่าถึงกิจกรรมยามว่าง

ทีมงานออกแบบระบบดักเก็บแก๊สมีเทนจากบ่อโคลนน้ำเน่า มีช่องต่อเข้ากับเตาแก๊สเพื่อเปิดใช้ได้เลย แต่หากจะต่อเพื่อเก็บแก๊สไว้ในถังแก๊ส ต้องต่อเข้ากับคอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ก่อน ซึ่งตัวต้นแบบนี้เก็บแก๊สเอาไว้ใช้ได้ 10 นาที พอทำกับข้าว 1 อย่าง หรือเรียกได้ว่าต้มน้ำก็เดือด

“เราวางแผนเอาไว้ว่าขนาดจริงจะอยู่ที่ 2x3 เมตร ที่มีกระบอกเก็บแก๊สขนาด 1x1เมตร สามารถเก็บแก๊สไว้ใช้ได้นาน 30 นาที” อลงกรณ์ ตั้งสมบัติสันติ สมาชิกทีมชุมพล 1กล่าวและว่า “ไม่ต้องห่วงว่าจะใหญ่จนแบกไม่ไหว ผมจะออกแบบให้เป็นเครื่องที่ถอดประกอบได้ ให้คนทั้งบ้านใกล้และไกลหนองน้ำสามารถใช้ได้ ไม่ต้องเปลืองเงินไปซื้อแก๊ส จึงประหยัดทั้งเงินและสิ่งแวดล้อม” อติศักดิ์ ศรีตำแย สมาชิกทีมชุมพล1 กล่าวเสริม

ไม่ใช่แค่เด็กหนองคายที่มารับรางวัลชนะเลิศไป เด็ก ๆ จากทีมเด็กสร้างจากโรงเรียนปลาปากวิทยา จ.นครพนม ก็ไม่น้อยหน้าสร้าง “ด้ามตะเกียบ” สิ่งประดิษฐ์แสนง่ายมาคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ร่วมกับทีมชุมพล 1 ความพิเศษของผลงานอยู่ที่ "ปลายตะเกียบถอดออกได้"

 

ทรงสิทธิ์ ศรีสุธรรม สมาชิกทีมเด็กสร้าง เล่าถึงที่มาของสิ่งประดิษฐ์ว่า ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง แม้จะไม่เปลืองน้ำ-น้ำยาล้างจานแต่เปลืองต้นไม้ และเมื่อสังเกตลักษณะการใช้งานจะเห็นว่าถูกใช้งานเฉพาะส่วนปลายเท่านั้น ขณะที่ด้ามจับแทบจะไม่เปื้อนเลย จึงน่าจะนำเฉพาะส่วนด้ามกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า

ไอเดียเด็ก ๆ จากนครพนมคิดออกมาหลากหลายรูปแบบ ปรับแก้ ตัดทิ้งไปก็มาก ด้วยอยากคงแนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติให้มากแต่ต้องง่ายทั้งการทำและการใช้ ไม่ว่าจะทำเป็นปลอกเหล็ก ที่ทดลองทำแล้วก็รู้สึกว่าไม่สวย จึงเปลี่ยนมาทำเป็นด้ามกับปลายตะเกียบแยกกัน และทำเป็นเกลียวหมุนเพื่อยึดด้ามกับปลายตะเกียบ แต่ก็ทำยาก ไม่เหมาะกับการใช้จริง จนมาลงตัวที่แบบสวมง่ายๆ ที่แค่ทำให้แน่นพอที่จะไม่หลุดเวลาใช้

เวลาใช้ เราก็ใช้แค่ปลายตะเกียบ ใช้เสร็จก็ถอดทิ้ง เก็บด้ามเอาไว้ จะใช้ใหม่ก็แกะปลายตะเกียบอันใหม่มาเสียบ อย่างน้อยก็ประหยัดไม้ไปได้อีกมาก

 

นอกจากผลงานของเด็กมัธยม ยังมีผลงานแพลนต์ซิลชาปเพนเนอร์ (Plantcil Sharpener) หรือเหลาดินสอรักษ์โลก จากฝีมือ “พิมพิพัฒน์ ห้องดุลย์” นิสิตชั้นปีที่ 3จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเหลาเสร็จก็นำเปลือกดินสอที่ปกติต้องเอาไปทิ้งถังขยะ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุปลูกต้นไม้

ประเภทนักออกแบบอิสระและประชาชนทั่วไปนอกจากนี้ยังมี ส้วมกระดาษลูกฟูกเคลื่อนย้ายได้ แม้จะไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ได้รับรางวัลป๊อปปูลาร์โหวต ใช้วัสดุจากธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้ ออกแบบใช้สำหรับในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ปัจจุบันกรมบรรเทาสาธารณภัยนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สนนราคาที่ 80 บาท


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2552

 


  หน้าหลัก | โลกร้อนคือ | สาเหตุ | บทความ | ผลกระทบ | ติดต่อ
Free Web Hosting